เมื่อ คนตาบอดเดินทาง ด้วยตัวเองได้
ถ้าการไปไหนสักที่นึงได้โดยที่ไม่ต้องร้องขอให้ใครพาไป ไม่ต้องรอเวลาว่างของใครสักคนในบ้านก่อนถึงจะขอให้เค้าไปส่ง หรือไม่ต้องหาเหตุผลมากมายมาพูดให้ฟังให้คนรอบข้างสงสารแล้วขอให้ไปส่งทำธุระต่างๆ และความลำบากใจอีกหลายอย่างที่คนพิการได้พบเจอในชีวิต บางครั้งสิ่งที่อยากทำ สถานที่ ที่อยากไปมันอาจจะดูไม่สำคัญและจำเป็น เราก็ไม่กล้าวานให้ใครพาไป
ผมเป็นคนหนึ่งที่พบเจอสิ่งเหล่านี้มาทั้งชีวิต เมื่อวันหนึ่งที่ผม “เดินทางด้วยตัวเองได้แล้ว” มันเป็นเหมือนคนที่ได้หลุดออกจากกรงขัง เหมือนนกที่ได้บินออกจากกรง เหมือนโซ่ที่พันธนาการต่างๆได้ถูกตัดออกจากชีวิต และไม่เพียงร่างกายที่สามารถไปไหนมาไหนได้เองแล้ว จิตใจที่มีแต่คำว่าไม่ได้มันก็ถูกปลดให้เราคิดเชิงบวกมากขึ้น และวันนี้ผมจะมาเล่าสิ่งที่สำคัญของการมีชีวิตอิสระให้ทุกท่านได้อ่านประสบการณ์ เมื่อ คนตาบอดเดินทาง ด้วยตัวเอง กันครับ
ทุกวันนี้ถ้าทุกคนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้ง BTS MRT SRT สายสีต่างๆ ทั้งใต้ดินและบนดิน ลองสังเกตดูครับ เราจะเห็นคนพิการเดินทางกับรถไฟฟ้ากันเยอะเลย ทั้งคนตาบอดที่มีพี่ ๆ รปภ. เดินนำแล้วคนตาบอดแตะข้อสอก บางครั้งก็มาคนเดียว บางครั้งก็ต่อแถวกันมา หรือเพื่อน ๆ วีลแชร์ ก็เดินทางกันเยอะเลยครับ นอกจากพวกเราคนพิการแล้วผมก็ยังได้เจอพี่ ๆ ที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่สามารถเดินได้แบบช้าๆ หรือผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน ต่างใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันครับ
ส่วนหนึ่งผมมองว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะแรกๆ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการและผู้สูงอายุ
เมื่อก่อนผมเป็นเด็กที่เติบโตมาจากต่างจังหวัด เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือ ตอนเด็กๆ ยังพอมองเห็นรางๆ ก็ยังพอเดินไปซื้อขนมร้านขายของชำใกล้ๆบ้านได้ ยังพอปั่นจักรยานในบ้านในสวนได้บ้าง แต่พอโตขึ้น ตาก็เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จนมืดไปตอนก่อนเข้า ม. 1 พอดี พอเราได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด การเดินทางก็ต้องอาศัยพ่อแม่ไปรับไปส่ง
แต่ครอบครัวผม พ่อเป็นทหาร ก็จะต้องขึ้นชายแดน ส่วนแม่เป็นทั้งแม่ค้า ชาวสวน ชาวนา ช่างปักผ้านักเรียน และอื่นๆ ตามฤดูกาล ก็จะต้องออกแต่ช้าไปขายของที่ตลาด (เราใช้เงินเยอะกับการเดินทางไปรักษาตาที่โรงพยาบาลรามา) ส่วนพี่ชายก็ต้องไปเรียนมหาลัยที่ต่างจังหวัด หมู่บ้านผมยังถือว่าโชคดีที่มีรถรับส่งนักเรียนแบบที่ไปรับตามบ้านและยังมีญาติๆ ที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน คอยพาลงรถเดินเข้าโรงเรียน
สำหรับในต่างจังหวัดแล้ว บริการรถสองแถวที่อาจมีอยู่บ้างเราก็จะต้องไปขึ้นที่ถนนใหญ่ แต่จะมีรถผ่านมาเมื่อไหร่ก็ต้องลุ้นกันเอาเอง ถ้าเป็นคนที่มองไม่เห็นด้วยแล้ว ถึงรถจะมา เราก็คงโบกให้จอดรับด้วยตัวเองไม่ได้อยู่ดี เราเลยจะเห็นว่าเด็กๆ ในต่างจังหวัดพอเริ่มทำใบขับขี่ได้ ก็ต้องซื้อมอไซค์ใช้เดินทางกันแทบทุกคน
ตัวผมเองยังดีหน่อย ที่ไปไหนมาไหนยังมีพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ยังคอยถามไถ่พาไปเที่ยวด้วยบ้าง เพื่อนคนตาบอดหลายคนต้องจากบ้านมาอยู่โรงเรียนประจำ อยู่แต่ในโรงเรียนตาบอด และโรงเรียนเรียนร่วม หรือคนพิการอีกหลายคนที่ต้องอยู่แต่บ้าน เพราะพ่อแม่เก็บลูกไว้ อาจเป็นด้วยเหตุผลของความรัก ความเป็นห่วง หรือความอายที่มีลูกพิการ หรืออาจเป็นด้วยเหตุผลอื่นๆ อย่างด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น
เมื่อถึงวันที่ผมต้องเข้าเรียนต่อมหาลัย ในความคิดหนึ่งผมอยากไปอยู่ไกล ๆ บ้าน เพราะอยากจะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง จากที่เคยได้ยินได้ฟังพี่ๆ อาจารย์คนตาบอดหลายๆท่านก็เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าไปเรียนต่างประเทศแล้วอยู่ด้วยตัวเองได้ หลายคนอยู่กรุงเทพก็ไปไหนมาไหนได้เหมือนกัน ใช้รถแท็กซี่ ใช้วินมอไซค์ หรือรถโดยสาร แล้วผมก็ได้ไปเรียนไกลบ้านจริงตามที่หวังไว้เลยครับ
ผมได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนนั้นประมาณปี พศ.2553 จากจังหวัดเล็กๆ อย่างลำปาง พอได้มาอยู่หัวเมืองใหญ่ก็มีตัวช่วยในการเดินทางเยอะขึ้น ตอนนั้นที่ขอนแก่นเริ่มมีรถแท็กซี่ใหม่ๆ เลยครับ มี 10 20 คัน จะไปไหนคนเดียวก็โทรเข้าศูนย์ แจ้งที่อยู่แล้วคนขับก็จะโทรหาแล้วมารับ (มีค่าเรียก 20 บาท) แล้วเราก็ขอเบอร์คนขับไว้เผื่อโทรเรียกมารับกลับ เค้ารู้ที่ไปส่งเราแล้ว ให้ไปรับก็ไม่ต้องอธิบายเส้นทางกันมากครับ
เวลาไปเรียนผมก็อาศัยเพื่อนสนิทคอยมารับไปเรียนด้วยกัน (ซื้อมอไซค์ใช้ด้วยกัน) ตอนนั้นในมหาวิทยาลัยก็มีรถรับส่งรอบมออยู่เหมือนกันแต่เส้นทางไม่ได้ครอบคลุมเส้นทางมากเท่าทุกวันนี้ บางครั้งเพื่อนหลายคนก็ชวนไปเที่ยวห้างในเมือง พวกเราก็ขึ้นสองแถวเข้าไปในเมืองกัน แต่การได้ลองนั่งแท็กซี่ไปไหนเองคนเดียวบ้างก็เป็นก้าวแรกของคนตาบอดอย่างผม เราจะต้องเรียนรู้วิธีการบอกทางคนขับ จำทางว่าเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เมื่อไหร่ มีจุดสำคัญอะไรที่รถผ่านบ้าง อย่างน้อยเราก็จะได้ไม่ถูกหลอกไปผิดทาง
เมื่อวันที่เรียนจบ เข้ามาทำงานใน กทม. ผมเริ่ม “เดินทางด้วยตัวเองได้แล้ว” อย่างจริงๆ ก็ในเมืองหลวงนี่เองครับ เริ่มจากการหัดนั่งรถตู้ จากที่ทำงานใน สวทช. ที่รังสิตไปในเมือง ก็เป็นจุดที่ง่ายที่สุด เพราะรถมีจุดขึ้นรถ มีเจ้าหน้าที่คอยพาขึ้นรถ และมีปลายทางที่รถจอดให้แน่นอน อย่างจัตุจักรหรืออนุสาวรีย์ ต่อมาผมก็หัดขึ้นรถไฟฟ้า จริงๆ แล้วรถไฟฟ้านี่เราถือว่าสะดวกมากเลยครับ ที่สถานีพวกเราคนตาบอดก็จะมีพี่ๆ รปภ. คอยช่วยพาไปส่งที่ประตูรถไฟฟ้า แล้วปลายทางก็มารับไปส่งที่จุดเชื่อมต่อ
การเดินทางอื่นๆ อย่างวินมอไซต์ใต้รถไฟฟ้า หรือป้ายขึ้นรถใกล้ๆ รถไฟฟ้ามีเสียงบอกสถานนีต่างๆ พวกเราไม่ต้องกลัวจะเลยป้ายครับ ต่อมาสิ่งที่ถือว่ายากเลยสำหรับผม ก็คือ รถเมล์ครับ ถ้าเราขึ้นป้ายต้นทางอย่างสาย 29 510 จาก ม.ธรรมศาสตร์รังสิต ก็ยังถือว่าง่าย เพราะรถจะจอดที่ป้ายนาน แต่ถ้าเป็นป้ายข้างทางแล้ว เราจะต้องคอยขอให้คนแถวนั้นคอยโบกรถให้ ถ้าพี่ๆ เค้ารถที่จะขึ้นมาก่อน เราก็ต้องหาคนอื่นช่วยดูใหม่ครับ หรือถ้ามีรถมาจอดข้างหน้าเราก็ไม่รู้อีกว่าเป็นสายอะไร
ต้องถามคนรอบข้าง หรือตะโกนถามกระเป๋ารถไปเลยครับ เวลาขึ้นได้ลุ้นแล้ว เวลาจะลงก็ยิ่งต้องลุ้นมากกว่า เพราะเวลาเราบอกกระเป๋ารถว่าขอให้ช่วยบอกเวลาถึงป้ายหน่อย บางครั้งถ้าพี่ๆ เค้าลืม เราก็อาจเลยป้ายได้เหมือนกันครับ (เดี๋ยวนี้เริ่มมีเสียงบอกป้ายในรถเมล์ไฟฟ้าใหม่ๆแล้วครับ) เวลาลงรถก็ต้องระวังตัวอีก บางครั้งก็ได้ลงที่เลน 2 เพราะรถเข้าป้ายไม่ได้ ถ้าฤดูฝน ลงจากรถแล้วเราก็อาจจะลงน้ำที่ขังอยู่ข้างทางให้เปียกได้ครับ ผมก็เคยอยู่หลายรอบเลยครับ ส่วนการเดินทางอื่นๆ ผมก็เน้นถามเพื่อนๆ คนตาบอดว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง มีจุดสังเกตตรงไหน อย่างผ่านเสาแล้วไปทางไหนต่อ หรือเดินตามเบรลล์บล็อคไปทางไหนบ้าง มีตรงไหนที่ต้องระวัง บางที่เบรลล์บล็อกอาจพาเราไปหัวชนขอบบันไดได้
ไม้เท้าสำรวจได้เฉพาะด้านล่าง ส่วนด้านบนที่ยื่นๆ ออกมาก็ต้องเสี่ยงกันเอาครับ จากการออกแบบเมืองให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เลยทำให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตกันได้มากขึ้น มีโอกาสในการทำงาน มีโอกาสในการใช้ชีวิต และยังช่วยให้ตาบอดเดินทางได้สะดวก นอกจากผมแล้วเพื่อนๆ คนตาบอดอีกหลายคนจำเป็นที่จะต้องย้ายเข้าเมืองหลวง
ถึงแม้อยากจะอยู่กับครอบครัว แต่ด้วยโอกาสในการทำงาน โอกาสในการได้มีความอิสระในชีวิต โอกาสที่จะได้พึ่งพาตัวเอง พวกเราก็ต้อง “อพยพ” เข้ามาอยู่ในกรุง หากเป็นไปได้ ขอให้ในต่างจังหวัดมีสิ่งอำนวยความสะดวก บริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้ทุกคนได้ใช้กันให้มากขึ้นกันด้วยนะครับ
ในวันหนึ่งถ้าคุณสูงอายุ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้สะดวก คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ผมหวังว่าจะมีวันนั้นครับ
แบบสอบถาม แนวทางการพัฒนาเนื้อหาสำหรับเว็บไซต์ ud-guide.com
บริการออนไลน์เพื่อคนพิการ สร้างโลกที่เข้าใจ เพื่อการเข้าถึงที่เท่าเทียม
สวัสดิการและ สิทธิคนพิการไทย 2567 ได้อะไร เช็คสิทธิ์ไว้ ไม่พลาด
เปิดพิกัด ห้องให้นมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครบบริการจำเป็น ใช้ฟรี